ยินดีต้อนรับสู่ห้องสมุดประชาชน"เฉลิมราชกุมารี"อำเภอวิเศษชัยชาญ เปิดบริการ ตั้งแต่เวลา 8.30 - 17.00 น.ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอำเภอวิเศษชัยชาญ







อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว


อนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ตั้งอยู่ที่หมู่ที่2 ต.ไผ่จำศีล หน้าโรงเรียนชุมชนวัดวิเศษชัยชาญ ซึ่งอยู่ด้านหลังของวัดวิเศษชัยชาญ (วัดท่าสุวรรณ) สร้างขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2492 เป็นอนุสาวรีย์ปูนปั้นเสริมแกนเหล็ก ผู้สร้าง คือนายกลึง อนันต์ ร.ท.เปลื้องโมทายน และประชาชนอำเภอวิเศษชัยชาญร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของนายดอก นายทองแก้ว
อนุสาวรีย์นี้ตั้งไว้กลางแจ้ง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา จึงถูกทั้งแดดและฝนจนชำรุดทรุด
โทรมไปตามกาลเวลา ต่อมาใน ปี พ.ศ.2506 นายยก สุกใส พร้อมด้วยประชาชนอำเภอวิเศษ
ชัยชาญ ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์รูปหล่อโลหะทองเหลืองขนาดเท่าคนยืนอยู่บนแท่นคนละแท่นแทนของเก่า แต่งตัวด้วยผ้านุ่งโจงกระเบนหยักรั้ง สนับเพลาแลบเล็กน้อย คาดเครื่องรางที่แขน
ห้อยพระเครื่องรางเต็มคอ นายดอกถือดาบ 1 เล่ม นายทองแก้วสะพายดาบ 2 เล่ม จนมาถึงปี พ.ศ.2510 พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ ร้อยโทยิ่งยศ มณฑลผลิน ร.ท. สนั่น ธานีรัตน์ พร้อมด้วยประชาชนชาวอำเภอวิเศษชัยชาญได้ร่วมกันสร้างพลับพลาและฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ แล้วเชิญรูปหล่อขึ้นไว้บนแท่นเดียวกัน และได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2517 โดยมี
นายสงวน สาริตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 300,000 บาท
(สามแสนบาทถ้วน)
เมื่ออนุสาวรีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางจังหวัดอ่างทอง ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จเปิดอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2520(ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็ง รัตนโกสินทร์ 106 ) โดยรับสั่งให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธร ฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์

ที่มาของข้อมูล
1.คำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดวิเศษชัยชาญองค์ปัจจุบัน
2.จากประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ของกรมศาสนา เล่ม 2 นายดอก นายทองแก้ว วีรบุรุษที่ชาวอ่างทองเคารพ สักการะและภาคภูมิใจในวีรกรรมอันกล้าหาญที่ได้พลีชีพเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลานอย่างไม่เสียดายชีวิต
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์(ปลาย พ.ศ.2308 )มีกองทัพพม่าโดยเนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพพม่า ได้ยกทัพมาประชิดติดพระนคร(กรุงศรีอยุธยา) เมื่อเมืองหลวงมีกำลังอ่อนแอจนแทบไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ท้องถิ่นแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่านสมรภูมิจึงต้องปะทะกับข้าศึกอย่างหลีกเลียงไม่ได้ จนหล่อหลอมจิตใจของชาวบ้านให้ห้าวหาญขันสู้พม่าขึ้นเนเมียวสีหบดี ได้จัดกำลังทหารพม่าหนึ่งกองแยกออก ไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญ และบังคับให้ราษฎรที่ยอมอยู่ในอำนาจนำไปเที่ยวค้นหาทรัพย์ และภายหลังพม่ารู้ว่าบ้านใครมีลูกสาวจะบังคับให้เรียกเอาลูกสาวด้วย พวกราษฎรพากันโกรธจึงคิดจะแก้แค้นพม่าโดยรวบรวมกำลังขึ้น นายดอก ชาวบ้านกรับ นายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันสองหมู่บ้านนี้อยู่ในเขตอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง) ได้วางแผนนัดแนะกันลวงพม่าให้ไปค้นลูกสาวที่บ้านป่าแห่งหนึ่งแล้วลุมกันฆ่าพม่าที่ไปตายหมดทั้ง 20 คนและจึงพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน ในเวลานั้นราษฎรชาวเมืองวิเศษไชยชาญและเมืองสรรคพากันหลบหนีพม่าไปอาศัยอยู่ที่บ้านบางระจันจำนวนมากเพราะมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ บ้านบางระจัน เป็นพรมแดนที่ติดต่อกับเมืองวิเศษไชยชาญเมืองสิงห์และเมืองสุพรรณบุรี เป็นบ้านดอนที่พม่าเข้าไปได้ยาก
ชาวบ้านที่หนีมารวมกันได้นิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ ผู้รู้วิทยาคมวัดเขานางบวช เมืองสุพรรณบุรี ให้มาช่วยคุ้มครองที่วัดโพธิ์เก้าต้นในบ้านบางระจัน และได้ชักชวนกันตั้งค่ายต่อสู้พม่า และรวบรวมชายฉกรรจ์กว่า 400 คน มีหัวหน้า คือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก นายทองแก้ว ขุนสรรค์ พันเรือง นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ ช่วยกันตั้งค่ายสู้รบกับพม่าที่ บ้านบางระจัน โดยมีนายแท่นเป็นนายทัพใหญ่ การรวบรวมกำลังคน เพื่อปกป้องบ้านเมืองของชาวบ้านกลุ่มนี้ ทำให้พม่ามีความหวั่นเกรงมาก เนเมียวสีหบดีจึงส่งกองทหารมาปราบชาวบ้านบางระจันถึง 8 ครั้ง ในครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 7 ชาวบ้านได้รับชัยชนะมาตลอด จนถึงครั้งที่ 8 ค่ายบางระจันจึงแตกด้วยความอ่อนล้าเพราะขาดกำลังไม่มีใครช่วยเหลือและพม่าได้ส่งกำลังมาประมาณ 2,000 คนพร้อมปืนใหญ่จึงสามารถตีค่ายบางระจันแตก เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานถึง 5 เดือน การรบทุกครั้งนายดอก นายทองแก้วได้ร่วมต่อสู้อย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ณ ค่ายบางระจัน ดังนั้นเพื่อน้อมรำลึกถึงวีรกรรมของบุคคลทั้งสอง ชาววิเศษชัยชาญจึงได้สร้างอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ขึ้นซึ่งประดิษฐานอยู่ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญ และจัดพิธีสักการะอนุสาวรีย์ นายดอก นายทองแก้ว ในวันที่ 25 เดือนมีนาคมของทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น